ทุกวันนี้บริษัทต่างๆ ต้องเผชิญกับปัญหาข้อมูลที่ต้องจัดเก็บนั้นมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างทวีคูณกว่าในอดีตที่ผ่านมา และแอพพลิเคชันใหม่ๆ นั้นก็มีความต้องการใช้ทรูพุตที่สูงมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องการความเสถียรในการใช้งานสูงด้วย รวมถึงกฎหมายใหม่ๆ ที่มีการกำหนดให้มีระยะเวลาในการจัดเก็บข้อมูลมากขึ้น เช่น กฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ที่เพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2550 ที่ผ่านมาและมีผลบังคับใช้ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 นั้นมีการกำหนดให้บริษัทต้อง จัดเก็บข้อมูลจราจรเป็นเวลา 90 วัน และทางการสามารถร้องขอให้จัดเก็บเพิ่มเป็น 1 ปีก็ได้ เป็นต้น ทำให้การเก็บข้อมูลมีปริมาณมากขึ้นตลอดเวลา
ในขณะที่งบประมาณทางด้านไอทีนั้น ถูกควบคุม และ จำกัดมากขึ้น ทำให้อินเทอร์เฟซ SCSI แบบเดิม ๆ ไม่สามารถตอบโจทย์ในการจัดเก็บข้อมูลที่เพิ่มความต้องการมากขึ้นอย่างรวดเร็วได้ ทำให้หลายๆ บริษัทหันไปพิจารณาโซลูชันของการใช้อินเทอร์เฟซแบบ Fiber Channel (FC) แต่ก็ต้องแลกประสิทธิภาพกับเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มมากขึ้น หรือการใช้อินเทอร์เฟซแบบ Serial ATA (SATA) แทนก็ต้องแลกราคาที่ลดลงกับประสิทธิภาพที่ลดลงด้วยเช่นกัน ดังนั้น Serial Attached SCSI (SAS) จึงเป็นคำตอบที่จะมาแทนที่เทคโนโลยีเดิมๆ เพราะสามารถช่วยทั้งเรื่องประสิทธิภาพและงบประมาณ
เปรียบเทียบอินเทอร์เฟซแบต่างๆ
เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพมากขึ้น จึงได้แบ่งเรื่องที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการเปรียบเทียบอินเทอร์เฟซแบบต่างๆ เป็น 4 ส่วนคือ ประสิทธิภาพในการใช้งานสูง, มีความเสถียรสูง, สามารถขยายได้ง่าย และ งบประมาณต่ำ โดยอินเทอร์เฟซแต่ละแบบมีคุณสมบัติดังนี้
1. SCSI ถือเป็นอินเทอร์เฟซที่เด่นในเรื่องประสิทธิภาพในการใช้งานและมีความเสถียร มากที่สุดในปัจจุบัน แต่ราคานั้นค่อนข้างสูงและขยายได้ไม่สะดวก
2. SATA ถือเป็นอินเทอร์เฟซที่ราคาถูกที่สุดในปัจจุบัน นิยมใช้กับการแบ็กอัพแบบ Disk-to-Disk แต่ไม่เหมาะกับงานที่ต้องการเรื่องประสิทธิภาพและเสถียรภาพในการใช้งาน
3. Fiber Channel ถือเป็นอินเทอร์เฟซที่มีประสิทธิภาพในการใช้งานสูง, มีความเสถียรสูง, สามารถขยายได้ง่าย มักนิยมใช้กับ NAS แต่ก็มีข้อเสียที่ราคาสูงมาก
4. SAS ถือเป็นคำตอบที่สามารถตอบโจทย์ทั้ง 4 ข้อได้ รวมถึงสามารถใช้ร่วมกับฮาร์ดดิสก์ที่เป็น SATA ได้ด้วย (สำหรับข้อมูลที่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก) ทำให้ประหยัดมากขึ้นอีก
เพิ่มความเร็วในการทำงาน
สำหรับบริษัทที่มีปัญหาความเร็วในการทำงานของไอโอของ SCSI HBA อันเป็นเหตุทำให้เซิร์ฟเวอร์รันแอพพลิเคชันได้ช้าลง หรือในช่วงที่มีปริมาณทราฟฟิกสูง ๆ อาจทำให้เกิดไทม์เอาท์ได้ วิธีการแก้ปัญหานี้ที่หลาย ๆ บริษัทนำมาใช้ก็คือการกระจายแอพพลิเคชันไปรันบนเซิร์ฟเวอร์หลาย ๆ ตัว แต่ด้วยอินเทอร์เฟซแบบ SAS HBA กับเซิร์ฟเวอร์เดิม โดยไม่ต้องมีการลงทุนซื้อเซิร์ฟเวอร์ใหม่เพิ่มเติม แต่ความเร็วในการรับส่งข้อมูลของ SAS HBA ที่สูงถึง 3 Gbps ซึ่งสูงกว่าการรับส่งข้อมูลของ SCSI แบบเดิมที่ 320 Mbps เกือบสิบเท่า ทำให้ประหยัดต้นทุนในการเพิ่มความเร็วในการทำงานอย่างมาก
โดย SAS HBA ช่วยลดทรูพุตที่เป็นคอขวดของไอโอที่เชื่อมต่อภายในกับอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล หรือ Direct-Attached Storage (DAS) ทำให้ขยายจำนวนอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลเพิ่มสูงสุดถึง 16,000 จุดต่อเซิร์ฟเวอร์ตัวเดียว
แต่อย่ามัวแต่ดีใจกับข้อดีทั้งหลายที่กล่าวไปในเบื้องต้นเท่านั้น ข้อเสียก็มีเช่นกัน เช่น SAS HBA ไม่อนุญาตให้ใช้ N-Port ID Virtualization (NPIV) ทำให้ผู้ดูแลระบบจะต้องตั้งชื่อ SAS HBA หนึ่งชื่อต่อหนึ่งเซิร์ฟเวอร์ และหากคุณต้องการใช้ network-attach SCSI หรืออุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่เป็น FC ร่วมกับ SAS HBA คุณจะต้องใช้บริดจ์ หรือ เราท์เตอร์ ช่วยให้ SAS HBA สามารถสื่อสารกับอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบดั้งเดิมได้
ลดต้นทุนด้วยการใช้ร่วมกับดิสก์ไดร์ฟแบบ SATA
SAS อนุญาตให้ผสมผสานดิสก์ไดร์ฟที่มีอินเทอร์เฟชเป็น Serial Attached SCSI และ Serial ATA เพื่อประหยัดต้นทุน และประสิทธิภาพ โดยใช้ดิสก์ไดรฟ์ที่เป็น SATA สำหรับข้อมูลที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลบ่อยนักเพราะราคาดิสก์ไดรฟ์ ถูกกว่า แต่สำหรับข้อมูลที่ต้องการความรวดเร็วและความน่าเชื่อถือในการเรียกใช้งาน ให้ใช้ดิสก์ไดรฟ์ที่เป็น SAS แทน
จากตัวอย่างในรูปที่ 3 เป็นการเชื่อมต่อ SAS HBA เพื่อขยายดิสก์ภายนอกจากเดิมที่มีดิสก์แบบ SATA ภายในเซิร์ฟเวอร์เพียง 4 ลูก ทำให้มีประสิทธิภาพสูงกว่าการเชื่อมต่อภายนอกแบบ SATA โดยตรงและขยายจำนวนดิสก์ไดรฟ์ที่ใช้งานได้จำนวนมากขึ้นตัวอย่างการใช้วิธี การเชื่อมต่อแบบนี้ได้แก่ data warehouse, databases, decision support
จากตัวอย่างในรูปที่ 4 เป็นการเชื่อต่อโดยใช้ SAS Expander เพื่อขยายจำนวนดิสก์ภายนอก ซึ่งสามารถขยายได้สูงถึง 16,000 ลูก ในขณะที่ประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อเทียบเท่ากับ drive แบบ FC/SCSI ทีเดียว ตัวอย่างการใช้วิธีการเชื่อมต่อแบบนี้ได้แก่ data warehouse, databases, transaction processing, decision support
จากตัวอย่างในรูปที่ 5 เป็นการเชื่อมต่อโดยใช้ FC Switch เข้ามาช่วยในการทำ multi-pathing และ failover ทำให้มีความน่าเชื่อถือของระบบมากขึ้นเหมาะสำหรับระบบที่ไม่ต้องการให้เกิด การล้มเหลวขึ้นในระบบ ตัวอย่างการใช้วิธีการเชื่อมต่อแบบนี้ได้แก่ data warehouse, databases, transaction processing, decision support
ความปลอดภัยในการใช้งาน
การทำโซนนิ่งและการรักษาความปลอดภัยบนอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลเป็นอีกฟังก์ชัน หนึ่งที่เป็นพื้นฐานการใช้งาน SAS ในทุกวันนี้ เพื่อให้มั่นใจว่า SAS HBA สามารถทำถึงได้เฉพาะ LUN ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ผู้ดูแลระบบจะต้องกำหนด LUN ให้กับพอร์ตใน SAS array เพื่อควบคุมการเข้าถึง LUN โดยการพาร์ทิชัน หรือ LUN masking บน SAS Storage array และการทำโซนนิ่งบน SAS expanders
โดย SAS expanders มี 2 ประเภทคือ edge expanders และ fan-out expanders
1. edge expander จะปลั๊กเข้ากับพอร์ต SAS บนเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งจะสามารถสนับสนุนเพิ่มได้มากถึง 128 ชุด โดยจำกัดระยะทางไม่เกิน 8 เมตร
2. fan-out expander จะเพิ่มความสามารถในการทำการเราท์ติ้งและฟีเจอร์รวมถึงราคาด้วย แต่ก็ยังคงสนับสนุนได้แค่ 128 ชุด เช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตามควรที่จะจำกัดจำนวนของโซนบน SAS expanders ไม่ให้เกินสามเพราะ expanders จะเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดว่าจะให้ข้อมูลไหลไปยังอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลตัวใดที่ ต่ออยู่กับมัน แม้ว่าในปัจจุบัน จำนวนและความสามารถในการสร้าง SAS โซนนั้นจะถูกจำกัดใน fan-out expanders และ hybrid expander (ผสมระหว่าง fan-out และ edge) ซึ่งจะมีการปรับปรุงในสเป็คของ SAS-2 ที่กำลังพัฒนากันอยู่ต่อไป
บทสรุป
แม้ว่าบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลหลาย ๆ บริษัทเริ่มย้ายการผลิตอุปกรณ์จากไอโอที่เป็น SCSI ไปเป็น SAS HBA ในการเชื่อต่อภายใน เช่นบริษัท EMC มีนโยบายที่จะลดการผลิตอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่มีการเชื่อมต่อแบบ SCSI ในปัจจุบัน และจะเลิกผลิตในปี 2008 แต่ถึงกระนั้นก็ตามยังมีปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ SCSI ยังคงความนิยมอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่
1. อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลและเทปไดรฟ์ที่เป็นมาตรฐาน SAS ยังคงอยู่ในแล็ป หรือ เพิ่งจะเริ่มทยอยเข้าสู่ตลาดในปัจจุบัน
2. อุปกรณ์ที่เป็น Parallel SCSI HBA นั้นเติบโตอย่างเต็มที่ และลูกค้ามั่นใจเรื่องเสถียรภาพในการทำงาน
3. อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลรุ่นเก่า ๆ จำนวนมากสามารถใช้อินเทอร์เฟซแบบ SCSI เท่านั้น
ดังนั้นแม้เทคโนโลยีใหม่จะก้าวหน้าเพียงใด หากในบริษัทของคุณยังมีดิสก์ไดรฟ์ที่เป็นมาตรฐานเก่าและยังไม่พร้อมจะปรับ เปลี่ยนในวันนี้ ก็ขอให้ศึกษาและเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริษัทของคุณก่อนจะตัดสินใจใดๆ นะครับ
Thanks : สุรชาติ พงศ์สุธนะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น